งานประติมากรรม

           งานประติมากรรม เป็นการสร้างสรรค์รูปทรงให้มีลักษณะผลงานเป็นสามมิติ มีความกว้าง ความยาว ความสูงหรือความหนา มักจะทำด้วยวัสดุที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปทรงได้ เช่น ดินเหนียว ดินน้ำมัน ปูนปลาสเตอร์ ไม้ หิน เป็นต้น งานประติมากรรม มีเทคนิควิธีการทำได้หลายวิธี เช่น 
              1.  วิธีการแกะสลัก เป็นกระบวนการปฏิบัติงานประติมากรรมทางลบ คือ การแกะสลักเอาส่วนย่อยออกจากส่วนรวม
              เทคนิคการแกะสลักไม้   ขั้นตอนและวิธีการแกะสลัก
              1. กำหนดรูปแบบและลวดลาย ออกแบบหรือกำหนดรูปแบบและลวดลายนับเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการออกแบบ สำหรับงานแกะสลักต้องรู้จักหลักในการออกแบบ และต้องรู้จักลักษณะของไม้ที่จะนำมาใช้แกะสลัก เช่น ทางไม้หรือเสี้ยนไม้ที่สวนกลับไปกลับมา สิ่งเหล่านี้ช่างแกะสลักจะต้องศึกษาหาความรู้และแบบงานแกะสลักต้องเป็นแบบ ที่เท่าจริง
           2. การถ่ายแบบลวดลายลงบนพื้นไม้ นำแบบที่ออกแบบไว้มาผนึกลงบนไม้ หรือนำมาตอกสลักกระดาษแข็งต้นแบบให้โปร่ง เอาลวดลายไว้และนำมาวางทาบบนพื้นหน้าไม้ที่ทาด้วยน้ำกาว หรือน้ำแป้งเปียกไว้แล้วทำการตบด้วยลูกประคบดินสอพองหรือฝุ่นขาวให้ทั่ว แล้วนำกระดาษต้นแบบออก จะปรากฏลวดลายที่พื้นผิวหน้าไม้
           3. การโกลนหุ่นขึ้นรูป คือการตัดทอนเนื้อไม้ด้วยเครื่องมือช่างไม้บ้างเครื่องมือช่างแกะสลักบ้าง แล้วแกะเนื้อไม้เอาส่วนที่ไม่ต้องการออกให้ไม้นั้นมีลักษณะรูปร่างที่ใกล้ เคียงกับแบบเพื่อให้เกิดรูปทรงตามต้องการ มีความชัดเจนตามลำดับเพื่อจะนำไปแกะสลักลวดลายในขั้นต่อไป การโกลนภาพ เช่นการแกะภาพลอยตัว เช่น หัวนาคมงกุฎ หรือแกะครุฑและภาพสัตว์ต่าง ๆ ช่างจะต้องโกลนหุ่นให้ใกล้เคียงกับตัวภาพ
           4. การแกะสลักลวดลาย คือการใช้สิ่วที่มีความคม มีขนาดและหน้าของสิ่วต่าง ๆ เช่น สิ่วหน้าตรง หน้าโค้ง และฆ้อนไม้ เป็นเครื่องมือในการแกะสลัก เพื่อทำให้เกิดลวดลายซึ่งต้องใช้ฆ้อนไม้ในการตอกและใช้สิ่วทำการขุด การปาดและการแกะลวดลายทำให้เกิดความงามตามรูปแบบที่ต้องการ การขุดพื้น คือการตอกสิ่วเดินเส้น โดยใช้สิ่วที่พอดีกับเส้นรอบนอกของตัวลาย เพื่อเป็นการคัดโคมของลวดลายส่วนใหญ่ทั้งหมดก่อนโดยใช้ฆ้อนตอก เวลาตอกก็ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม สม่ำเสมอเพื่อคมสิ่วจะได้จมลึกในระยะที่เท่ากันแล้วจึงทำการใช้สิ่วหน้าตรง ขุดพื้นที่ไม่ใช่ตัวลายออกให้หมดเสียก่อน ขุดชั้นแรกขุดตื้น ๆ ก่อน ถ้าพื้นยังไม่ลึกพอก็ตอกซ้ำอีกแล้วจึงขุดต่อไปเพื่อให้ได้ช่องไฟที่โปร่งถ้า ต้องการนำลวดลายแกะสลักนั้นไปประดับในที่สูงก็ต้องขุดพื้นให้ลึกพอประมาณ เพราะมองไกล ๆ จะได้เห็น การแกะยกขึ้น หลังจากที่ทำการขุดพื้นแล้วก็แกะยกชั้น จัดตัวลายที่ซ้อนชั้นกันเพื่อให้เห็นโคมลายชัดเจน ซึ่งก้าวก่ายกันในเชิงของการผูกลายเพื่อปรับระดับความสูงต่ำของแต่ละชั้นมี ระยะ 1 – 2 – 3 การแกะแรลาย เริ่มจากการตอกสิ่วเดินเส้นภายในส่วนละเอียดของลวดลายแล้ว ก็จะใช้สิ่วเล็บมือทำการปาดแกะแรลายเก็บแต่งส่วนละเอียด
              ข้อสังเกตในการปาดแรตัวลาย
              เวลาปาด หรือแกะแรตัวลาย ช่างจำเป็นต้องดูทางของเนื้อไม้หรือเสี้ยนเมื่อเวลาใช้สิ่วก็ต้องปาดไปตาม ทางของเนื้อไม้ คือไม่ย้อนเสี้ยนไม้หรือสวนทางเดินของเนื้อไม้ เพราะจะทำให้ไม้นั้นหลุดและบิ่นได้ง่าย
              การปาดแต่งแรลาย คือการตั้งสิ่วเพล่เอียงข้างหนึ่ง ฉากข้างหนึ่ง แล้ว ปาดเนื้อไม้ออกจะเกิดความสูงต่ำไม่เสมอกัน เพื่อทำให้เกิดแสงเงาในตัวลายและมองเห็นให้ชัดเจนตามรูปแบบที่ต้องการ  การปาดลายสามารถทำได้ 3 วิธี คือ  ปาดแบบช้อนลาย  ปาดแบบพนมเส้น คือพนมเส้นตรงกลางปาดแบบลบหลังลาย (ลบเม็ดแตง)
                การแกะสลักไม้  จำเป็นต้องมีวิธีการแปลกออกไปแล้วแต่สภาพ  เช่น  การแกะบานประตู หน้าต่าง  อาจใช้ไม้แผ่นเดียวทำได้สำเร็จ  แต่การแกะหน้าบาน  พระที่นั่งโบสถ์มีขนาดใหญ่  วิธีการแกะจึงต้องเพลาะไม้หลายแผ่นเข้าด้วยกัน  แต่อาจจะเรียงต่อกันโดยยึดพอที่จะแก  เสร็จแล้วจึงถอดเป็นชิ้นส่วนนำขึ้นไปประกอบทีละแผ่น  หรือลวดลายที่ต้องการแสดงรูปเกือบลอยตัวก็แยกแกะต่างหากตามแบบแล้วนำเดือยสลักติดเข้ากับตัวลายหน้าบันนั้น ๆ ต่อไป  ในปัจจุบันการแกะสลักก็ยังคงยึดวิธีการแบบโบราณ  แต่มีการวิวัฒนาการปรับปรุงเครื่องมือเข้ามาช่วย  ก็คือ  การใช้เครื่องมือขุดพื้น  การลอกแบบลงบนไม้  ซึ่งแต่เดิมใช้วิธีการปรุกระดาษแล้วโรยฝุ่น  หรือใช้เขียนลงบนไม้  ก็ใช้พิมพ์เขียนแล้วทากาวผนึกลงบนไม้  แต่ละใช้ได้เฉพาะแกะให้รู้รูปร่าง  แต่เมื่อโกลนหุ่นแล้วก็ต้องใช้วิธีการเรียนแบบเดิมซึ่งทำกันมาแต่โบราณ
               เครื่องมือที่ใช้ในการแกะสลัก
               - ไม้ ไม้ที่นิยมนำมาใช้ในงานแกะสลัก ได้แก่ ไม้สัก เป็นไม้ที่ไม่แข็งเกินไป มีลายไม้สวยงาม สามารถแกะลายต่างๆได้ง่าย หดตัวน้อย ทนานต่อสภาพดินฟ้าอากาศและปลอดภัยจากปลวก มอดและแมลง ไม้ที่นิยมรองลงมาคือ ไม้โมก ไม้สน ที่สำคัญคือ ไม้ที่นำมาทำการแกะสลักจะ ต้องไม่มีตำหนิ เพราะจะทำให้งานชิ้นนั้นขาดความสวยงาม ค้อนไม้ เป็นค้อนที่มีลักษณะคล้ายตะลุมพุกเล็กๆ ทำจากไม้เนื้อแข็งเช่น ไม้แดง ไม้ชิงชัน  
               - ค้อนไม้จะเบา และไม่กินแรงเวลาใช้งานและช่วยรักษาด้ามสิ่วให้ใช้งานได้นานอีกด้วย
               - สิ่ว เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการแกะสลักมีหลายชนิดได้แก่ สิ่วขุด สิ่วฉาก สิ่วขมวด สิ่วเล็บมือ สิ่วทำ จากเหล็กกล้าที่แข็งและเหนียว ที่สำคัญคือจะต้องลับให้คมอยู่เสมอ
               - มีด เป็นมีดเล็กๆ ปลายแหลม ใช้แกะลายเล็กๆ หรือแกะร่อง
               - เลื่อย ใช้ในการเลื่อยไม้ส่วนที่ไม่ต้องการออกไป เพื่อขึ้นรูปหรือขึ้นโครงของงาน
               - บุ้งหรือตะไบ ใช้ถูตกแต่งชิ้นงานในขั้นตอนหลังจากแกะสลักแล้ว
               - กระดาษทราย ใช้ขัดตกแต่งชิ้นงานหลังจากแกะสลักแล้ว
               - กบไสไม้ ใช้ไสไม้ให้เรียบก่อนลงมือแกะหรือตกแต่งอื่นๆภายหลัง
               - สว่าน ใช้เจาะรูไม้เพื่อแกะหรือฉลุไม้
               - แท่นยึดหรือปากากาจับไม้ ใช้ยึดจับไม้
               - เครื่องมือประกอบอื่นๆ ได้แก่ ไม้บรรทัด ดินสอ กระดาษลอกลาย กระดาษแข็งทำแบบ
               - วัสดุตกแต่ง ได้แก่ ดินสอพอง แลกเกอร์ แชลแลก น้ำมันลินสีด ทินเนอร์ หรือสีทาไม้

ภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการแกะสลัก
               2.  วิธีการปั้น เป็นกระบวนการปฏิบัติงานประติมากรรมทางบวกคือ การเพิ่มส่วนย่อยเพื่อให้เป็นส่วนรวม
               เทคนิคการปั้นปูนปั้น  วัสดุและเครื่องมือในการสร้างสรรค์ศิลปะปูนปั้นขั้นการเตรียม
              1.  นำปูนขาวแช่น้ำสารส้มหมักทิ้งไว้ในถังหมักปูนระยะเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อลดความเค็มของปูนอีกชั้นหนึ่งก่อน  
              2.  การร่อนปูน  นำปูนที่หมักไว้ตามกำหนดเวลา 1 เดือนจนได้ที่แล้วนำมาร่อนบนตะแกรงไม้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเศษปูนก้อนใหญ่ หรือสิ่งที่ปนเปื้อนมากับปูนขาวออกจะทำให้ปูนที่ได้มีเนื้อละเอียดมากยิ่งขึ้น แล้วหมักในน้ำจืดอีกประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อลดความเค็มของปู   
              3.  การตากปูน  นำปูนที่ได้จากการหมักครั้งที่สองมาตากให้แห้ง  วิธีการตากปูนต้องทำให้เป็นก้อน ๆ พอประมาณไม่ใหญ่จนเกินไป เพื่อที่ปูนจะได้แห้งเร็ว ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์  เมื่อปูนแห้งดีแล้วนำมาเก็บไว้ในถังสำหรับเก็บปูนก้อน
              4.  การบดปูน  นำปูนก้อนมาใส่เครื่องบด โดยมีส่วนผสม ปูน 1 กระป๋อง  กาวหนังสัตว์ 2 แก้ว กระดาษฟางที่ผ่านการตำมาแล้ว 1 แก้ว ต่อการบด 1 ครั้ง  โดยใช้เวลาการบดประมาณ 10 นาที เมื่อบดได้ที่แล้วใช้เหล็กโป๊ว์แซะออกจากเครื่องบดปูน  
              5.  การตำปูน ปูนตำหรือปูนเพชร  ช่างปูนปั้นเมืองเพชรมีวิธีการผสมปูนที่มีลักษณะพิเศษ โดยมีส่วนผสมสำคัญ จำนวน  5 อย่าง คือ ปูนขาว 2 ส่วน   ทรายละเอียด 1 ส่วน    น้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลทราย (เดิมใช้น้ำอ้อย)   กาวหนัง (เดิมใช้เปลือกประดู่เคี่ยวกับหนังวัว)    กระดาษฟาง (เดิมใช้ฟางข้าวที่แห้งแล้ว)  นำปูนที่ผ่านการบดแล้วมาตำเพื่อให้เกิดความเหนียวนุ่ม นำปูนที่ตำได้ที่แล้ว ใส่ถุงพาสติกมัดปากถุงให้แน่น พร้อมที่จะนำไปใช้ในการผลิตผลงานต่อไป ซึ่งขั้นตอนการตำปูนนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้น ช่างปูนปั้นต้องสังเกตว่า   ปูนที่ตำได้ที่ดีหรือยัง   เมื่อเห็นว่าปูนที่ตำใช้ได้แล้วจึงตักใส่ภาชนะหรือถุงพลาสติกเก็บไว้  แล้วเริ่มตำปูนใหม่อีกจนกว่าจะเพียงพอกับงานที่จะปั้น  ปูนที่ตำเก็บไว้แล้วจะคงสภาพอ่อนอยู่อย่างนั้น แต่จะต้องไม่ให้ถูกอากาศ  เมื่อช่างจะใช้ก็นำไปใช้ได้ทันที ส่วนใหญ่นิยมใส่ถุงพลาสติกแช่ไว้ในน้ำ เวลาจะใช้ค่อยนำออกไปใช้เพื่อมิให้ปูนแข็งตัว
              การเตรียมกาวหนังสัตว์   เตรียมกาวหนังสัตว์โดยมีส่วนผสมกาว 17 แผ่น น้ำตาล 7 กิโลกรัม นำมาเคี่ยวให้เข้ากัน                                    
              การเตรียมกระดาษฟาง  นำกระดาษฟางมาแช่น้ำทิ้งไว้  หลังจากนั้นนำมาตำให้ละเอียด โดยผสมทรายลงไปเล็กน้อย
             ขั้นตอนการสรรค์สร้างศิลปะปูนปั้นขั้น
              1.  การขึ้นโครงแบบ
              หากเป็นงานลอยตัว ช่างปั้นจะต้องขึ้นโครงแบบก่อนการปั้่น  ภาพติดผนัง  ช่างปั้นจะต้องออกแบบเขียนลายลงในกระดาษเพื่อดูรูปแบบเค้าโครงชั้นหนึ่งก่อน
              2.  การโกลนปูน            
              การปั้นปูนด้วยปูนตำหรือปูนเพชรนั้น  ช่างจะต้องออกแบบเขียนลายลงในกระดาษเพื่อดูรูปแบบเค้าโครงชั้นหนึ่งก่อน  เมื่อช่างปั้นร่างแบบแล้ว  จะเขียนลายไว้หยาบๆ  หรือบางครั้งจะเขียนลายไปพร้อมกับปั้นปูนไปด้วยเมื่อร่างลายแล้ว  ช่างจะนำปูนซีเมนต์ปั้นพอก (ถือปูน) ไปตามรูปแบบที่ร่างไว้  ซึ่งเรียกว่า "โกลน" การโกลนด้วยปูนซีเมนต์เพื่อใช้ซีเมนต์เป็นตัวยึด   จะเกิดความคงทนไม่หลุดง่าย  ช่างจะโกลนไปทีละช่วงของลายจนกระทั่งปูนที่โกลนไว้แข็งตัวจับแน่นดีก็จะนำปูนตำ หรือปูนเพชรขึ้นไปพอกอีกชั้นหนึ่ง
                3.  การปั้น
                หลังจากผ่านขั้นตอนการโกลนปูนเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนการปั้น   ช่างปั้นจะปั้นตามแบบที่ลูกค้าสั่ง หรือตามที่รับงานมา   ช่างปั้นปูนจะใช้เกียงปั้นปูนตามรูปแบบลักษณะของลายที่ร่างไว้
                4.  การตกแต่งลวดลาย
                การตกแต่งลวดลายเป็นขั้นตอนสุดท้าย  เมื่อได้รูปแบบที่ได้สัดส่วนสวยงามแล้ว ช่างปูนปั้นจะตกแต่งด้วยการเขียนลายน้ำทอง ประดับกระจก หรือลงสีตามที่รับงานมา  สำหรับการประดับกระจกมักเป็นงานปูนปั้นโบราณ มีราคาถูก แต่ไม่ค่อยคงทน กระจกมักหลุดร่วงง่าย  การลงสีจะมีความสวยงามอีกแบบหนึ่ง  แต่โดยปกติงานปูนปั้นจะเน้นที่ชิ้นงานต้องแสดงให้เห็นศิลปะการปั้นปูนร้อยเปอร์เซ็นต์ ความงามของปูนปั้นอยู่ที่แสงและเงาของชิ้นงานเวลาที่มอง  เนื่องจากการปั้นจะต้องแสดงมิติ เป็นความงามที่ไม่ต้องอาศัยการตกแต่งด้วยวัสดุอื่น ไม่มีการเขียนลาย  ลงสี  หรือประดับกระจก แต่ช่างปูนปั้นก็เป็นช่างที่มีฝีมือ  และมีความสามารถจะเขียนลายน้ำทองลงบนงานปั้นได้  ลงรักปิดทอง และประดับกระจกได้แล้วแต่ผู้ว่าจ้างจะกำหนด   สำหรับในปัจจุบันนิยมใช้เครื่องเบญจรงค์มาประดับทำให้เกิดความสวยงาม  แต่การประดับด้วยเครื่องเบญจรงค์นี้จะมีราคาค่อนข้างแพง  และการประดับสิ่งต่าง ๆ ลงบนงานปั้นก็จะบดบังศิลปะของปูนปั้นลงไปดังได้กล่าวมาแล้วหากเป็นการเขียนด้วยลายน้ำทองหรือลายไทย ช่างปูนปั้นก็มักใช้สีเบญจรงค์ในการเขียนลาย  ได้แก่ เขียว น้ำเงินน้ำตาล ฟ้า  

ภาพ วิธีการปั้น

              3.  วิธีการหล่อ เป็นกระบวนการผลิตผลงานประติมากรรมที่ผ่านกระบวนการทางการปั้นมาแล้วนำมาหล่อเพื่อให้ได้จำนวนผลงานมากชิ้นขึ้น และการหล่อนี้จะทำให้รูปที่ปั้นนั้นคงทนถาวร

ภาพ วิธีการหล่อ

              4.  วิธีการทุบ เคาะ ตี เป็นกระบวนการปฏิบัติงานประติมากรรมที่ทำจากวัสดุประเภทโลหะ เป็นขั้นตอนการกระทำเพื่อให้โลหะนั้นๆเปลี่ยนรูปทรงตามต้องการ


ภาพ วิธีการทุบ เคาะ ตี เพื่อให้โลหะเปลี่ยนรูปทรง