งานจิตรกรรม

             งานจิตรกรรมมีลักษณะเฉพาะของแต่ละคน โดยศิลปินจะค้นคว้าทดลองหาเทคนิควิธีการต่างๆด้วยตนเองซึ่งเทคนิคงานจิตรกรรมมีหลายรูปแบบ เช่น
             1.  การระบายสีแบบเปียกบนเปียก คือ การทำให้กระดาษเปียกด้วยการระบายน้ำลงบนกระดาษก่อนแล้วจึงระบายสีตามที่ต้องการลงไป การระบายแบบเปียกบนเปียกนี้ จะช่วยให้ระบายสีได้ติดทั่วกระดาษ เพราะกระดาษบางชนิดระบายสีติดยาก เนื่องจากมีความมันหรือความหยาบขรุขระ ซึ่งการระบายแบบเปียกบนเปียกเหมาะสำหรับการระบายสีท้องฟ้าหรือผิววัตถุที่มีมัน เพราะจะให้ความรู้สึกกลมกลืนของสีเด่นชัด เทคนิคของการระบายแบบเปียกบนเปียกที่สำคัญมี  2 ประการ คือ       
                   1.1  การไหลซึม  วิธีระบายเทคนิคการไหลซึม 
                          1)  เตรียมกระดาษที่ขึงบนกระดานรองเขียน สี น้ำ พู่กัน และผ้าเช็ดไว้ให้พร้อม
                          2)  วางกระดานรองเขียนให้ทำมุมกับพื้น 15 องศา แล้วใช้พู่กันขนาดใหญ่ จุ่มน้ำระบายบนกระดาษวาดเขียน จากนั้นจึงใช้พู่กันจุ่มสี แล้วระบายลงไป ขณะที่กระดาษยังเปียกน้ำอยู่ เมื่อระบายสีแรกจนพอใจแล้ว ล้างพู่กัน จุ่มสีอื่นระบายใกล้กับสีแรกเปลี่ยนสีอื่นและระบายอย่างเดียวกัน ประมาณ 4-5สี 
                          3)  ขณะที่ระบายควรสังเกตดูการไหลซึมของสีที่ระบายนั้น จะพบว่าบางสีมีลักษณะรุกรานสีอื่น และบางสีก็ไม่รุกรานสีอื่น ควรจดจำสีที่รุกรานและไม่รุกรานไว้
                          4)  ลองระบายตามวิธีนี้อีก แต่คราวนี้กำหนดให้แน่ว่าจะใช้กลุ่มสีอุ่น หรือกลุ่มสีเย็น แล้วสังเกตการไหลซึมของสี
                   1.2  ไหลย้อย  วิธีระบายเทคนิคการไหลย้อย
                          1)  เตรียมกระดาษที่ขึงบนกระดานรองเขียน สี น้ำ พู่กัน และผ้าเช็ดไว้ให้พร้อม
                          2)  วางกระดานรองเขียนให้ทำมุม 15 องศากับพื้น แล้วใช้พู่กันขนาดใหญ่ระบายน้ำบนกระดาษวาดเขียน ควรระบายให้ทั่วกระดาษ จากนั้นให้ใช้สีที่มีน้ำหนักแก่ระบายจากซ้ายไปขวาไปเรื่อยๆ จนเกือบทั่วแผ่นกระดาษ
                          3)  ปรับความเอียงของกระดานรองเขียนให้ทำมุมกับพื้น 85 องศา แล้วใช้พู่กันจุ่มสีอ่อนระบายบนสุดของกระดาษ พยายามให้พู่กันมีสีและน้ำมากๆ เมื่อระบายแล้ว สังเกตดูว่าสีไหลย้อยทันทีหรือไม่
                         4)  ถ้าสีอ่อนที่ระบายทับทีหลังไม่อ่อนเท่าที่ควร ก็ให้ระบายด้วยน้ำเปล่าแทน
                         5)  ลองระบายสลับกันโดยระบายสีอ่อนในชิ้นแรก เมื่อกระดานเอียง 15 องศา แล้วระบายสีแก่ เมื่อกระดานเอียง 85 องศากับพื้นสังเกตดูความแตกต่าง
             2.  การระบายสีแบบเปียกบนแห้ง คือ การระบายสีที่เปียกชุ่มลงบนกระดาษที่แห้ง ส่วนที่เปียกน้ำคือพู่กันกับสี  จึงควรใช้น้ำผสมสีในปริมาณที่มากพอ  ส่วนแห้ง คือ แผ่นกระดาษ  วิธีนี้เหมาะกับการระบายสีให้เรียบ การระบายสีภาพวัตถุที่มีลักษณะเป็นพื้นระนาบราบเรียบ เช่น รูปกล่อง ผนังตึก พื้นถนน เป็นต้น หรือเป็นขั้นการระบายสีเรียบก่อนแล้วจึงเติมน้ำหนักอ่อนแก่และระบายแสงเงาภายหลัง การระบายแบบเปียกบนแห้ง เป็นวิธีระบายทั่วไป ซึ่งมีเทคนิคที่สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
      2.1   การระบายเรียบสีเดียว  วิธีการระบายเรียบสีเดียว
                          1)  เตรียมกระดาษที่ขึงบนกระดานรองเขียน สีน้ำ พู่กัน และผ้าเช็ดไว้ให้พร้อม
                          2)  วางกระดานรองเขียนให้ทำมุมกับพื้นที่ 15องศา แล้วใช้พู่กันจุ่มสีที่ต้องการระบายผสมกับน้ำ กะให้พอกับบริเวณว่างที่ต้องการระบายประมาณ 3” x 6” พยายามผสมสีให้เข้ากับน้ำ แล้วจึงระบายยนพื้นที่ 3” x 6” นั้น
                          3)  ขณะระบายให้ระบายช้าๆ โดยเริ่มจากทางด้านซ้ายมือมาทางขวามือ คล้ายกับการเขียนหนังสือ ระบายตามแนวนอน และให้มีน้ำกองอยู่บนกระดาษมากๆ เพื่อที่จะได้ระบายต่อไปสะดวก ระบายต่อกัน จนทั่วบริเวณรองรับขนาด 3”x 6”
                          4)  ขณะระบายอย่าเอาพู่กันที่จุ่มสีแล้วไปจุ่มน้ำเป็นอันขาด เพราะจะทำให้น้ำหนักที่ผสมไว้แล้วอ่อนลง จงใช้เฉพาะพู่กันจุ่มสีที่ผสมสีไว้แล้วเท่านั้นระบายติดต่อกัน 
 ภาพ การระบายเรียบสีเดียว

                  2.2   การระบายสีอ่อนแก่เรียบสีเดียว วิธีการระบายอ่อนแก่เรียบสีเดียว
                          1)  เตรียมกระดาษที่ขึงบนกระดานรองเขียน สี น้ำ พู่กัน และผ้าเช็ดไว้ให้พร้อม
                          2)  วางกระดานรองเขียนทำมุม 15 องศา  กับพื้น แล้วระบายแบบเรียบสีเดียว โดยให้มีน้ำหนักอ่อนแก่ เมื่อระบายไปได้พื้นที่จำนวนหนึ่งแล้ว ผสมสีให้แก่ แล้วระบายต่
                          3)  ระบายน้ำหนักแก่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนได้ความแตกต่างหลายๆน้ำหนัก
                          4)  ระบายสีแก่ก่อน แล้วผสมสีให้อ่อนระบายต่อตามวิธีระบายเรียบ โดยให้เห็นน้ำหนักของสีจากแก่มาหาอ่อน

 ภาพ การระบายสีอ่อนแก่เรียบสีเดียว

            2.3   การระบายเรียบหลายสี  วิธีการระบายเรียบหลายสี
                          1)  เตรียมกระดาษที่ขึงบนกระดานรองเขียน สี น้ำ พู่กัน และผ้าเช็ดไว้ให้พร้อม
                          2)  เตรียมกระดาษที่ขึงบนกระดานรองเขียน สี น้ำ พู่กัน และอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ให้พร้อม
                          3)  วางกระดานรองเขียนให้ทำมุมกับพื้น 15 องศา แล้วใช้พู่กันจุ่มสี ผสมสีให้พอกับบริเวณที่ว่างที่จะระบาย แล้วระบายบนบริเวณกระดาษที่ต้องการ
                          4)  ผสมสีอื่นระบายต่อจากสีที่ระบายแล้วครั้งแรก พยายามระบายให้ต่อเนื่องกัน
                          5)  ผสมสีอื่นๆ อีกแล้วระบายต่อ อาจจะระบายเป็นกลุ่มสีอุ่นหรือกลุ่มสีเย็น พยายาม ระบายให้มีเนื้อที่ของสีต่างๆ พิจารณาดูความกลมกลืนและการไหลของแต่และสีด้วย


 ภาพ การระบายเรียบหลายสี

              3.  การระบายแบบแห้งบนเปียก  การระบายแบบแห้งบนเปียก  เป็นการระบายสีที่ผสมไว้ต้องผสมสีแห้ง  ค่อนข้างข้น ระบายลงบนกระดาษที่เปียกอยู่เทคนิคนี้จะทำให้สีกระจายออกไปเองตามพื้นที่เพราะพื้นที่เปียกอยู่นั้นดึงสีให้กระจายออกไป สีบางส่วนก็จะเกิดการซึมผสมกันเองด้วย  ทำให้ได้สีที่มีพลังเข้มแข็ง หนักแน่นเหมาะจะเขียนในระยะหน้าเช่น การระบายต้นไม้หรือภูเขาให้กลืนกับท้องฟ้าหรือซึมเข้าหาท้องฟ้าบางส่วน
              4.  การระบายสีแบบแห้งบนแห้ง คือ การระบายสีที่ใช้พู่กันและสีค่อนข้างแห้งระบายลงบนกระดาษที่แห้งสนิท แล้วระบายอย่างรวดเร็วบนกระดาษ วิธีนี้เหมาะสำหรับการระบายสีวัตถุที่มีผิวขรุขระ แห้งหรือแข็งกระด้าง เช่น เปลือกไม้ ผิวก้อนหิน เป็นต้น รวมทั้งใช้กับภาพที่ผู้ระบายต้องการสื่ออารมณ์ความรู้สึกลงไปในขณะระบายด้วยการระบายแบบแห้งบนแห้งอย่างรวดเร็ว ซึ่งศิลปินจีนและญี่ปุ่นมีความชำนาญในการวาดภาพแบบนี้มาก มีประโยชน์ในการที่จะเน้นส่วนใดส่วนหนึ่ง  หรือบริเวณที่เห็นว่า ควรทำให้เด่นได้ บางท่านก็ให้ความเห็นว่า ผลอันเกิดจากการระบายแห้งบนแห้ง คล้ายกับการเขียนชวเลข หรือการส่งโทรเลข กล่าวคือ มีข้อความสั้นๆ ชัดเจน กะทัดรัด และรวดเร็ว การระบายแบบแห้งบนแห้ง มีเทคนิคที่สำคัญอยู่ 3 ประการ
                   4.1  การแตะ วิธีระบายเทคนิคการแตะ
                          1)  เตรียมกระดาษปรุ๊ฟไว้หลายๆ แผ่น ปิดเทปตอนบนกับกระดานรองเขียนไว้พร้อม
                          2)  วางกระดานรองเขียนทำมุมกับพื้น 15 องศา แล้วใช้พู่กันจุ่มสีที่ต้องการแตะลงบนกระดาษ พยายามแตะตามแนวนอนตามลำดับ โดยเว้นช่องห่างกัน และชิดกันตามต้องการ 
                          3)  พลิกแพลงวิธีแตะให้แปลกให้แปลกไปจากที่ได้ทำไปแล้ว และขณะแตะ ควรนึกอยู่เสมดว่า ภาพที่เกิดอาจดูเป็นรูปอะไรได้บ้าง เปลี่ยนสี และเปลี่ยนพู่กัน ตามที่เห็นว่าน่าสนใจและเหมาะสม
                          4)  ขณะระบายอย่าเอาพู่กันที่จุ่มสีแล้วไปจุ่มน้ำเป็นอันขาด เพราะจะทำให้น้ำหนักที่ผสมไว้แล้วอ่อนลง จงใช้เฉพาะพู่กันจุ่มสีที่ผสมสีไว้แล้วเท่านั้นระบายติดต่อกัน
                   4.2  การป้าย วิธีระบายเทคนิคการป้าย
                          1)  เตรียมกระดาษปรุ๊ฟไว้หลายๆ แผ่น ปิดเทปตอนบนกับกระดานรองเขียนไว้พร้อม
                          2)  วางกระดานรองเขียนทำมุมกับพื้น 15 องศา แล้วใช้พู่กันจุ่มสีที่ต้องการป้ายครั้งเดียวจะป้านตรง เฉียง หรือ โค้ง ก็ได้ อย่าจุ่มสีให้ชุ่มเกินไปนัก คะเนว่าป้ายทีเดียวสีติดกระดาษหมดพอดี
                          3)  ป้ายซ้ำๆ กันให้มีลักษณะต่อเนื่องกันในทิศทางเดียวกัน และพลิกแพลงพู่กันตามความเหมาะสม
                          4)  ทดลองป้ายบนกระดาษที่มีผิวหยาบและผิวกระดาษต่างๆกัน สังเกตดูความแตกต่าง รวมทั้งลองเปลี่ยนพู่กันด้วย
                  4.3  เทคนิคผสม วิธีระบายเทคนิคการผสม
                         1)  เตรียมกระดาษวาดเขียนตามที่ท่านเห็นว่าเหมาะสม จากการแตะ และการป้าย ที่ท่านเคยทดลองไปแล้ว ติดบนกระดาษรองเขียนให้เรียบร้อย
                         2)  วางกระดานรองเขียนทำมุมกับพื้น 15 องศา และใช้พู่กันจุ่มสีที่ต้องการแตะลงบนกระดาษ และป้ายสลับกันไปในทิศทางเดียวกัน
                         3)  อาจพิจารณาวัตถุตรงหน้า แล้วลองป้ายตามลักษณะของวัตถุนั้น และแตะบางส่วนโดยเร็วพยายามเปลี่ยนลีลาการป้ายเสมอ
                         4)  ลองเปลี่ยนสีเสมอๆ โปรดคำนึงเสมอว่า กำลังทดลองวิธีการแบบแห้งบนแห้ง อาจเตรียมกระดาษที่มีลักษณะผิวต่างๆ กัน แล้วป้าย และแตะ คล้ายๆ บนกระดาษแต่ละชนิดนั้น สังเกตดูความแตกต่างของผลที่เกิดขึ้น
             5การระบายสีระบายบนระนาบรองรับ เทคนิคการระบายสีทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวไปแล้ว เป็นการระบายบนกระดาษวาดเขียน และกระดาษต่างชนิดกัน ไม่ได้ปรุงแต่งลักษณะผิวแต่อย่างใด สำหรับการระบายบนระราบรองรับที่เตรียมไว้ การเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อให้พื้นผิวของกระดาษที่จะระบายสีมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม เพื่อผลที่แปลกและน่าสนใจกว่า นอกจากนี้ยังช่วยสนองความต้องการของผู้สนใจสีน้ำที่ต้องการถ่ายทอดรูปแบบวัตถุให้คล้ายกับสิ่งที่มองเห็นหรือต้องการสร้างสรรค์รูปแบบให้ต่างไปจากเดิมอีกด้วย โดยใช้วัสดุต่างๆเข้ามาช่วย วิธีนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ ขึ้นอยู่กับการค้นคว้าทดลองของผู้ปฏิบัติงาน เช่น การใช้กระดาษทรายถูกระดาษวาดเขียนก่อนที่จะระบายสี การระบายสีเข้มก่อนแล้วจึงใช้เกลือป่นโรย การพิมพ์แตะด้วยสันกระดาษ การสลัดน้ำหรือฉีดน้ำลงบนการะดาษก่อนที่จะระบายสี เป็นต้น  การระบายระนาบรองรับที่เตรียมไว้ มีเทคนิคที่สำคัญ 2 ประการคือ
                 5.1  การขูดเขียน ขีด ถู กระดาษวาดเขียน
             1) เตรียมกระดาษวาดเขียน ขึงบนกระดานรองเขียน สี วัตถุไม่แหลมและคมจนเกินไป กระดาษทรายละเอียดและหยาบ
             2)  ใช้กระดาษทรายหยาบละละเอียดถูบนกระดาษวาดเขียนอย่างละแห่ง ต้องระวังอย่าถูแรงกระดาษจะขาด แล้วใช้สีน้ำระบายทับบริเวณที่ถูกระดาษทรายหยาบและละเอียดนั้น พยายามระบายให้คาบเกี่ยวกับบริเวณกระดาษที่ไม่ได้ถูกกระดาษทราย แล้วสังเกตความแตกต่าง 
             3)  ใช้ของมีคมปานกลาง ขึด กระดาษวาดเขียน ระวังอย่ากดแรงกระดาษจะขาด เมื่อขูดขีดแล้ว ระบายสีน้ำทับ สังเกตุความแตกต่าง และขณะที่สียังเปียกอยู่ ลองขูด ขีดดูด้วยว่ามีลักษณะที่ต่างกว่าที่ขีดไว้ก่อนระบายหรือไม่
             4)  ใช้สีเทียนสีขาวหรือน้ำมันพืช ระบายบนกระดาษวาดเขียนให้เป็นเส้น แส้วระบายสีน้ำทับ สังเกตุดูความแตกต่างกับระบายสีบนกระดาษธรรมดา             
             5)  ระบายสีน้ำบนกระดาษขณะที่เปียกอยู่ใช้เส้นไม้บรรทัดขูดขีด ดูว่าได้ลักษณะต่างไปจากเดิมหรือไม่
                  5.2  การผสมผสานด้วยวัสดุต่างๆ
                         1)  เตรียมกระดาษวาดเขียน ขึงบนกระดานรองเขียนให้พร้อม สี น้ำ พู่กันระบายสี น้ำตาล เกลือ เหล้าโรง หรือแอลกอฮอล์
                         2)  ระบายสีบนกระดาษให้มีขนาดพอควรตามวิธีเปียกบนแห้ง โดยใช้สี แก่ ขณะที่สียังเปียกอยู่บริเวณหนึ่งใช้เกลือโรย อีกบริเวณหนึ่งใช้น้ำตาลโรย สังเกตดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น
                         3)  ระบายสีบนกระดาษตามวิธีที่ 2 ขณะที่สียังเปียกอยู่จุ่มเหล้าแล้วระบายทับบนสีสังเกตดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น
                         4)  ปิดกระดาษเขียนบางส่วน ด้วยกระดาษว่าวหรือกระดาษสา ใช้กาวที่ไม่ละลายน้ำ เมื่อกระดาษแห้งแล้วระบายสี ทั้งกระดาษวาดเขียน และกระดาษสีที่ปิดทับ สังเกตดูความแตกต่างของกระดาษ
                         5)  อาจดำเนินตามวิธีที่ 3 หรือวิธีที่ 4 ก็ได้ ขณะที่สียังเปียกอยู่สามารถใช้เครื่องเป่าผม ช่วยให้แห้งเร็วขึ้น หรือใช้ความร้อนรูปแบบต่างๆ อบดู สังเกตดูว่า สีที่ระบายไปนั้นความเข้มเปลี่ยนไปหรือไม่